ชะตาชีวิตที่เลือกเองของ แอน จักรพงษ์
ชื่อของแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” นักธุรกิจหญิงข้ามเพศ เจ้าของบริษัทเจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นที่รู้จักกว้างขวางในทุกชนชั้นสังคมไทย จากการออกสื่อด้วยตัวเอง ให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ และสื่ออื่น ๆ เปิดเผยเรื่องราวตั้งแต่ในวัยเด็ก การทำศัลยกรรมทั่วร่าง ไปจนถึงเรื่องราวชีวิตบนเตียงแบบละเอียดยิบเกือบทุกแง่มุม
“ไหน วันนี้มาจากที่ไหน… อ๋อ บีบีซีหรือ” จักรพงษ์ทักทายทีมงานบีบีซีไทย ก่อนจะนั่งให้ช่างแต่งหน้าเติมแต่งความงามไปพร้อม ๆ กับฟังรายละเอียดการพูดคุยกับบีบีซีไทย ภายในห้องสีชมพูของอาณาจักรเจเคเอ็น
ภาพจำเรื่องราวของแอนในวัยเด็กคือการถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนในโรงเรียน ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากครู เมื่อโตมาในวัยผู้ใหญ่ แม้จะเริ่มประสบความสำเร็จทางธุรกิจบ้างแล้ว เธอกลับถูกปฏิเสธจากครอบครัวชาวจีนที่เคร่งครัด เมื่อเลือกที่จะบอกพ่อแม่ว่าลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมดห้าคนนั้น แท้จริงแล้วมีความรู้สึกนึกคิดเป็นหญิง
แม้จะจบการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนในไทย ไปเรียนที่ออสเตรเลียตั้งแต่อายุ 16 ปี และต้องทำงานในปั๊มน้ำมันเพื่อหารายได้เสริม แต่ในวันที่คุยกับบีบีซีไทย แอนยังย้ำว่าเธอ “ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทอง” ออกมาจากท้องแม่ ทว่าอุปสรรคและเรื่องเลวร้ายในอดีตต่างหาก ที่เป็นต้นทุนและแรงผลักให้สร้างอาณาจักรธุรกิจของตัวเองตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น
ธุรกิจนำเข้าสารคดีและซีรีส์จากต่างประเทศที่เฟื่องฟูไปพร้อม ๆ กับการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ทั้งระบบดาวเทียมและทีวีดิจิทัล รวมทั้งการเป็นผู้ส่งออกคอนเทนต์ของไทยรายหลักไปยังต่างประเทศ ทำให้แอน จักรพงษ์ สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในปี 2560 ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) หนึ่งปีให้หลัง 4,158 ล้านบาท ต่อมาได้ย้ายเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือน พ.ย. 2563 และมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปเพิ่มมาอยู่ที่ 4,677 ล้านบาท จากงบการเงินงวดล่าสุดในปี 2564 บริษัทมีมาร์เก็ตแคป อยู่ที่ 4,920 ล้านบาท
กลางเดือนตุลาคม 2565 เจเคเอ็นกรุ๊ปใช้เงินราว 800 ล้านบาท ซื้อกิจการ Miss Universe Organization (MUO)
ต่อยอดธุรกิจ
จักรพงษ์ บอกบีบีซีไทยว่าใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะตัดสินใจซื้อ MUO แต่ประสบการณ์จากการขายลิขสิทธิ์ละครบอกเธอว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเมื่อเล็งเห็นรายได้ที่จะเข้ามาเป็นกอบเป็นกำ ทั้งจากการถ่ายทอดสดการประกวดไปทั่วโลกและธุรกิจต่อเนื่อง
“โฮสต์ฟี (Host Fee) คือปีหนึ่งที่ใครอยากจะมาเป็นเจ้าภาพ ก็ต้องจ่ายเจเคเอ็นโดยประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ความต้องการก็ยาวไปถึงสี่ปีข้างหน้าแล้ว กำลังจะถูกจองเต็มไปหมดเรียบร้อย”
แม้ข่าวสารและความบันเทิงในปัจจุบันจะขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมีเดีย แต่การประกวดนางงามจักรวาลยังคงเป็นการประกวดที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วโลก ซึ่งนักธุรกิจที่เริ่มต้นจากร้านเช่าวิดีโออย่างจักรพงษ์ ไม่เชื่อว่าธุรกิจโทรทัศน์จะไม่มีโอกาสเติบโต
“จริง ๆ คนไม่ได้ดูโทรทัศน์น้อยลงนะ คนอายุ 40 ปีขึ้นไปยังดูอยู่…และทุกสิ่งทุกอย่างที่ไปถึงโซเชียลมีเดียนั้นก็ต้องเริ่มจากทีวีก่อน…แล้วถึงเอาคอนเทนต์ไปแพร่ต่อทางโซเชียลมีเดีย” …ซึ่งหากคนรุ่นใหม่จะดูผ่านช่องทางนั้นก็เป็นเรื่องของเขา”
นักธุริกจหญิงข้ามเพศไม่เห็นด้วยกับการผลิตคอนเทนต์เพื่อตอบสนองโซเชียลมีเดียอย่างเดียว เพราะมองว่าโซเชียลมีเดียคือสื่อที่เป็นเพียงห่วงโซหนึ่งของสื่อโทรทัศน์
“ดิฉันอยากจะถามว่าถ้าผลิตงานครั้งหนึ่งประมาณ 3-4 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำไปลงยูทิวบ์อย่างเดียวมันคุ้มไหม มันไม่คุ้ม ยกตัวอย่างฟุตบอลโลก กีฬาโอลิมปิก ถ้าทำแล้วไม่ออกเนชั่นแนลทีวี แต่ออกเฉพาะโซเชียลมีเดียก็ไม่คุ้ม”
เวทีนางงาม ≠ มองผู้หญิงเป็นวัตถุ
เมื่อต้นปีที่แล้ว #แบนแอนจักรพงษ์ เกิดเป็นกระแส หลังเธอให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์เปิดเผยรายละเอียดความสัมพันธ์ทางเพศกับแฟนที่เพิ่งเลิกรากันไป และยังพาดพิงไปถึงเรื่อง “เซ็กส์” ของนางงามจักรวาลคนหนึ่ง เมื่อเกิดถูกต่อต้าน แอนต้องออกมาไลฟ์สตรีมมิงขอโทษผ่านโซเชียลมีเดียยืนยันว่าไม่มีเจตนาไม่ให้เกียรตินางงาม
ในการพูดคุยกับบีบีซีไทย เมื่อถูกถามว่าคนบางส่วนอาจมองการประกวดนางงามเป็นเวทีด้อยค่าสตรี แอน จักรพงษ์ ย้ำว่าคนเหล่านี้สามารถเลือกที่จะไม่ชมการประกวดได้
“พี่ว่าเข้าใจแคบมาก objectified (มองผู้หญิงเป็นวัตถุ) นี่ใช้ไม่ได้เลย เขาสวย objectified โดยการใส่ชุดว่ายน้ำมานี่ ถามจริงเวลาคุณไปเที่ยวทะเล ใส่ชุดราตรีเดินลงทะเลเหรอ ทำไมเหรอ ดูแล้วจะก่อเกิดอาชญากรรมกันเหรอ มันคงไม่ใช่มั้ง เราต้องมองภาพรวม สติปัญญาตอนที่เขาตอบคำถาม ตอนที่เขาเดินเขาซ้อม ความมุ่งมั่นตั้งใจ มันคือการแข่งขันพรีเซนต์ personality, beauty and brain ซึ่งมันมาพร้อมกับอิสตรีเพศ ที่เกิดมาบนโลก ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้โลกน่าเบื่อ เพราะฉะนั้นคนที่พูดคือคนน่าเบื่อและใจแคบ ก็ไม่ต้องดู เท่านั้นเอง ไปดูอะไรที่น่าเบื่อของคุณ จบ”
ที่ผ่านมาจักรพงษ์ ซึ่งยังมีคำนำหน้าชื่อเป็น “นาย” ได้ก่อตั้งมูลนิธิข้ามเพศบันดาลใจ (Life Inspired for Transexuals Foundation – LIFT) เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ผู้หญิงและผู้หญิงข้ามเพศ เธอบอกบีบีซีไทยว่ากำลังรอจังหวะเวลาเหมาะสมที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้หญิงข้ามเพศสามารถใช้คำนำหน้าเป็น น.ส.หรือนางได้ เธอเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ เพราะมีความพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ในสังคมไทยมาระยะหนึ่งแล้ว
เปลี่ยนความเจ็บปวดให้เป็นพลัง
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา จักรพงษ์ ไม่เพียงขีดเส้น วางแผนการดำเนินธุรกิจ แต่ยังวางแผนชีวิตในทุกขั้นตอน รวมทั้งการเลือกใช้เงินหลายสิบล้านบาทจ้างผู้หญิงต่างชาติ เป็นแม่ “อุ้มบุญ” ทายาทสองคนที่ถือกำเนิดจากอสุจิของเธอที่เก็บรักษาไว้ก่อนผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง แม้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการอุ้มบุญที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะมองว่าเป็นเรื่องขัดศีลธรรม และยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายในบางประเทศก็ตาม
จักรพงษ์ในวัย 43 ปี มองย้อนชีวิตตัวเองว่าไม่ต่างจากการถูกจับขึ้นสังเวียนมวยหลายต่อหลายครั้ง ทั้งจากการถูกกลั่นแกล้ง เลือกปฏิบัติ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความไม่เข้าใจของคนในครอบครัว ไปจนถึงการทำธุรกิจ เธอยกให้สิ่งเหล่านี้เป็นวิชาชีวิต และใช้ความเจ็บปวดเป็นพลังนำไปสู่ความสำเร็จที่เชื่อว่าไม่เพียงเธอเท่านั้นที่ทำได้
“อยากจะบอกคนรุ่นใหม่ว่า คุณยิ่งเจออุปสรรค คุณยิ่งเจอปัญหานะ ขอบคุณฟ้าฝน ที่มาลิขิตให้เราได้เจอสิ่งเหล่านั้น ถ้าไม่เจอสิ คุณโชคร้าย เพราะคุณไม่เคยเรียนรู้ แต่จะยิ่งโชคร้ายมากกว่าถ้าคุณไม่เรียนรู้แล้วโทษคนอื่นไปด้วย เช่น ทำไมต้องเจอกับฉัน ฉันไม่น่าจะแบบนี้เลย มันไม่น่าทำแบบนี้เลย ชีวิตก็เลยดรอป (ตกต่ำ) ไปเลย”
นิตยสารฟอร์บส์เพิ่งยกย่องแอน จักรพงษ์ ว่าเป็น “สตรีข้ามเพศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก” จากการก้าวข้ามอุปสรรค จนนำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ ซึ่งเธอเองบอกบีบีซีไทยว่าสิ่งที่เกิดขึ้น “คือ destiny (ชะตาชีวิต) ที่เราต้องกำหนดเอง”